วงแหวนเว็บ

neizod's speculation

insufficient data for meaningful answer

ทุน/ทาส

Wednesday, November 16, 2016, 07:10 PM

เมื่อวานนี้มี friend บน facebook ผมท่านหนึ่ง แชร์กระทู้ “ขอระบายความรู้สึกของเด็กทุนวิทยาศาสตร์ทุนหนึ่ง”1 ซึ่งเป็นกระทู้เชิงตัดพ้อว่าทุนที่ให้มีข้อผูกมัดยาวนานเสียเหลือเกิน แถมยังบีบบังคับให้เด็กม.ปลายตัดสินใจอนาคตไกลเป็นยี่สิบปีอีก ทำให้จขกท.รู้สึกว่าทุนนี้เปรียบเสมือนสัญญาทาสยังไงยังงั้น

ด้วยความที่ friend ผมท่านนั้นเป็นเด็กหัวดีที่ได้รับทุนดังกล่าวเช่นกัน แถมยังไม่มีปัญหากับการทำงานใช้ทุนหลังเรียนจบอีก เลยแสดงความคิดเห็นบน facebook ส่วนตัวว่า “ไม่รู้ว่าจขกท.หลุดมาจากดาวดวงไหน ทุนนี้ให้อะไรกับเรามาตั้งเยอะ ถ้าไม่พอใจก็ลาออกไปซะ”2

ผมเห็นแล้วก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจกับการมองโลกแบบแบนราบของคุณ friend ท่านนั้นอยู่ไม่น้อย เลยคอมเมนต์ถามสั้นๆ กลับไปว่า “ถ้าคุณบอกให้เค้าลาออก แล้วใครจะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายชดเชยทุน?”

เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อยโรงเรียนจีน โดนบล็อคหายไปจากทามไลน์ของกันและกัน (อู้วววว รู้สึกเซเลปขึ้นมาทันที 5555)

จริงๆ ก็ไม่อยากทำให้เป็นเรื่อง personal หรอกนะ แต่ก็ต้องยอมรับว่าผมเองก็เป็นมนุษย์เดินดินกินข้าวแกงธรรมดาๆ คนหนึ่ง พอเจอแบบนี้เข้าไปก็หงุดหงิดอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน … เอาเป็นว่ามาไล่แจงประเด็นที่ผมคิดว่ามีปัญหาดีกว่า

1.) “ไม้รู้ว่าจขกท.หลุดมาจากดาวดวงไหน”

ประโยคนี้เด็ดมาก ตรงที่มันเป็นการ discriminate (ลดทอนคุณค่า) ความเป็นมนุษย์ของจขกท.ในพันทิพในเชิงว่า คนที่ได้ทุนนี้ต้องเป็นอัจฉริยะแบบผู้พูดเท่านั้น ใครที่ต่างไปจากเราไม่สมควรได้รับทุนนี้

ความดุดันของประโยคข้างต้นยังคงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อผู้พูดไม่ได้มองเห็นจขกท.เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หากแต่เป็นสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดที่แม้แต่พวกเราก็ยังไม่รู้จักเพราะว่าหลุดมาจากดาวดวงอื่น

เมื่อผู้พูดปักใจเชื่อไปแล้วว่าอีกฝ่ายไม่ใช่พวกตัวเอง ไม่แม้กระทั่งเป็นสปีชีส์เดียวกัน ก็จะนำไปสู่การลดทอนคุณค่าของอีกฝ่ายลง “เสียงนกเสียงกา” บ้าง “อ่อนแอก็แพ้ไป” บ้าง

ท้ายสุด ความช่วยเหลือ ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจในตัวผู้อื่น ก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป ในเมื่อไม่เหลือพื้นที่ความเป็นมนุษย์ไว้ให้เขาอีกแล้ว

ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

(อันที่จริงผมก็ควรจะเอะใจแต่แรกนะ ว่าคนที่กล้าใช้ประโยคระดับนี้ดูถูกผู้อื่น ก็คงจะไม่มี mindset มาถกเถียงกันด้วยเหตุผลอย่างมีคุณภาพหรอก … อุ๊ย ลืมไป too personal โทษๆ)

2.) “ถ้าไม่พอใจก็ลาออกไปซะ”

ผมยังยืนยันจะถามกลับเหมือนเดิม ว่าถ้าเค้าลาออกแล้ว ใครจะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช่จ่ายที่เกิดขึ้นจากการต้องชดใช้ทุน (สองเท่าของทุนที่ได้รับ)

ซึ่งนี่เป็นเพียงประเด็นปลีกย่อยประเด็นเดียวเท่านั้น เพราะยังไม่รวมไปถึง

  • ค่าเสียโอกาสจากเวลาที่เค้าใช้ไปกับการเรียนที่ผ่านมา
  • ค่าใช้จ่ายสำหรับเริ่มเล่าเรียนใหม่ในสายทางอื่น

คำแนะนำแบบนี้จึงเป็นอะไรที่ตื้นเขินและไร้ความรับผิดชอบมาก เพราะผู้แนะนำไม่จำเป็นต้องลงมือลงแรงช่วยเหลือหรือแบ่งเบาผลกระทบอะไรเลย กอปรกับผลลัพธ์จากการทำตามคำแนะนำนั้น ก็ไม่ได้การันตีว่าจะทำให้ปัญหาที่มีอยู่ลงไปได้จริงหรือเปล่า

ยิ่งมาพิจารณาว่าคำพูดดังกล่าวไม่ใช่คำแนะนำ (ผู้พูดกับจขกท.ไม่ได้สื่อสารกันโดยตรงบนพันทิพ แต่ใช้วิธีแอบบ่นบน facebook ส่วนตัว) แต่เป็นคำถากถางด้วยแล้ว ยิ่งขับว่าผู้พูดต้องการขับไล่จขกท.ออกไปจากดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของตน ซึ่งก็คือการย้ำใจความของการ discriminate จขกท.จากข้อแรกนั่นเอง

3.) ระยะเวลาให้ทุนไปจนถึงใช้ทุนยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ และเริ่มรับสมัครตั้งแต่ยังเด็ก

ถึงตรงนี้หลายคนคงรู้แล้วว่าทุนที่พูดถึงอยู่คือทุนอะไร แต่สำหรับใครที่ยังเดาไม่ออก จะบอกใบ้เพิ่มเติมว่าทุนนี้รับสมัครเด็กม.3 ครับ

ม.3 อายุ 15 แต่ต้องตัดสินใจอนาคตล่วงหน้าไปอีก 20 ปี

(ถึงจุดนี้ แม้จะไม่อยากนำไปเทียบแค่ไหนก็คงต้องเทียบให้ดูว่า การเลือกตั้งนั้นเริ่มให้สิทธิสำหรับเด็กอายุ 18 ปี แถมเลือกมาแค่ 4 ปีถ้าตัดสินใจผิดก็ยังรอโอกาสหน้าได้)

คุณวางใจได้ขนาดไหนกับการตัดสินจของตัวเองเพียงครั้งเดียวแล้วมีผลกระทบไปยาวนานถึง 20 ปีหละ?

นี่ยังไม่นับว่าผู้ตัดสินใจยังเป็นเพียงแค่เด็กเล็กๆ ที่ไม่จัดเจนเล่ห์เหลี่ยมกลไกของโลกใบนี้ เมื่อมาเจออะไรเช่นนี้เข้าไปย่อมไม่แปลกที่เค้าจะคิดว่านี่คือกับดัก

แล้วเมื่อเด็กคนนั้นรู้ตัวว่าได้ตัดสินใจพลาดแล้ว มันมีทางออกทางไหนบ้างที่จะช่วยเยียวยาเขา?

ถ้าบ้านรวยก็ไม่มีปัญหา ออกเงินตัวเองโปะไปก็ได้

แต่ถ้าบ้านจนหละ? เด็กเหล่านั้นยังจะมีโอกาสแก้ตัวได้อย่างทันท่วงทีหรือ?

4.) เส้นทางนัก(เรียน)วิจัยที่เปิดเผยความจริงใจอย่างเชื่องช้า

หากดูไทมไลน์การศึกษาในสายวิทยาศาสตร์เทียบกับทุนดังกล่าวแล้ว น่าจะได้ภาพออกมาประมาณนี้

  • 3 ปี ม.ปลาย - เรียนรู้พื้นฐานความรู้และการใช้เครื่องมือต่างๆ
  • 4 ปี ป.ตรี - ประยุกต์ใช้ความรู้มาฝึกสร้างสิ่งที่ทำได้แน่นอน
  • 2 ปี ป.โท - เรียนรู้พื้นฐานและทดลองทำวิจัยง่ายๆ
  • 3 ปี ป.เอก - ทำงานวิจัยในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ทุนดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญคือผลิตนักวิจัย แต่กว่าเด็กที่ถูกเกณฑ์มาจะได้สัมผัสกับงานวิจัยอย่างจริงจัง ก็ใช้เวลาผ่านไปกว่าครึ่งหนึ่งของการเรียนรู้แล้ว

ความยาวนานของการรอคอยดังกล่าว ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยที่จะมีคนเพิ่งมาพบตัวเองเมื่อสายว่าไม่ได้ชอบทำงานวิจัยเลยแม้แต่น้อย

จะเห็นว่าสาเหตุของปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดจากโครงสร้างทุนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวพันไปยังโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาอีกด้วย

แม้ว่าในระดับโรงเรียนจะมีวิชาโครงงานซึ่งคล้ายคลึงกับการทำวิจัยก็ตาม แต่ระดับความเข้มข้นก็เทียบกันไม่ได้ เนื่องจากงานวิจัยที่ดีนั้นต้องอ้างอิงบนฐานงานวิจัยก่อนหน้า ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกโรงเรียนจะมีทรัพยากรเพื่อเข้าถึง paper งานวิจัยเหล่านั้น และแม้ว่าจะเข้าถึงได้ก็ยังมีประเด็นอื่นๆ อย่างกำแพงภาษา ความน่าเชื่อถือของงานวิจัยรออยู่อีก

5.) ใช้ทุนยาวนาน

สำหรับคนที่ต้องการจบมาเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยอยู่แล้ว หัวข้อนี้ก็ไม่น่าเป็นปัญหา แต่ทุกคนที่รับทุนนี้มาอยากจะเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยแน่หรือ?

ผมคิดว่าการรั้งตัวผลผลิตนักวิจัยมาใช้งาน 10 ปีมันนานเกินไป เกิดเค้าหมดใจไปก่อนแล้วหละ เอาเค้ามาใช้งานเค้าก็ทำแบบสักแต่ขอให้เสร็จแล้ว ไม่ต้องมองไปถึงขั้นว่าเค้าจะสร้างสรรค์ผลงานวิจัยแปลกใหม่ออกมาเลย

นี่ยังไม่นับพวกไฟแรงมีอุดมการณ์ตราบจนวันทีเรียนจบ แต่มาไฟหมดเมื่อพบระบบราชการเข้าไปอีกนะ

แล้วการรับใช้ชาติมันก็ไม่ได้มีทางเดียวว่าต้องทำงานให้ภาครัฐซักหน่อย การทำงานภาคเอกชนก็สามารถช่วยเพิ่มความก้าวหน้าทางวิทยศาสตร์ของประเทศได้เช่นกัน


แล้วเราจะบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง?

สำหรับกรณีจขกท.ในพันทิพ ผมก็จนปัญญาในการให้คำแนะนำ (แต่คงไม่ไล่ให้ไปลาออกแน่ๆ)

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองภาพรวมแล้ว เราอาจจะทำอะไรได้บ้างในระดับโครงสร้าง

การคัดเลือกแยกกรองเฟ้นหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากกองสิ่งของขนาดใหญ่ ย่อมมีโอกาสเกิด false positive (พลาดเลือกของที่ไม่อยากได้) ยิ่งเมื่อเป็นการคัดเลือกมนุษย์ที่มีความหลากหลายสูงด้วยแล้ว การเลี่ยง false positive ยิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย การตัดสินใจพลาดจึงไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ทุนดังกล่าวกลับใช้ท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับเหล่า false positive เลย เช่นการขู่ว่าต้องชดใช้ทุนถึงสองเท่าหากลาออก

จะดีกว่ามั้ยถ้าทุนนี้เปลี่ยนมาใช้ท่าทีที่เป็นมิตรขึ้น เช่น

  • แทนที่จะให้ทุนครอบคลุมตั้งแต่ม.ปลายถึงป.เอก ถ้าเปลี่ยนไปเป็นให้ทุนเป็นรอบๆ แทน เมื่อหมดรอบแล้วก็มาประเมินกันหน่อยว่ายังชอบยังมีความสามารถยังอยากเป็นนักวิจัยอยู่หรือเปล่า? ถ้าไม่แล้วก็จากลากันด้วยดี ไม่ต้องฝืนใจบังคับกันต่อไป
  • ลดเวลาทำงานใช้ทุนหลังเรียนจบลง สำหรับบางคนที่ไม่สะดวกที่จะชดใช้ทุนหากลาออก พวกเขาอาจยอมศึกษาจนจบตามที่ทุนตั้งเป้าให้ แต่การดึงรั้งเค้าไว้ให้ทำงานชดใช้ถึง 10 ปีก็เป็นตัวเลขที่สูงมากๆ และเมื่อคนหมดใจแล้วก็คงผลิตผลงานที่ไม่มีคุณภาพซักเท่าไหร่หรอก ทำไมไม่ปล่อยให้เค้าออกไปทำงานที่เขาถนัดกว่า แล้วหาหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่อยากทำงานจริงๆ เข้ามาทดแทนหละ?
  • ผลพลอยได้จากการลดระยะเวลาใช้ทุนลง อาจทำให้ผู้ปกครองที่แสวงหาความมั่นคงจากการศึกษา ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นที่จะไม่ให้ลูกหลานรับทุนนี้ … ลองพิจรณาประโยคนี้สิ “ทุนนี้ส่งเรียนจนจบป.เอกที่อายุราวสามสิบ จบมาแล้วมีงานให้ทำแค่ปีเดียวแล้วประเมินผลว่าจะจ้างต่อมั้ย”

ข้อเสนอข้างต้นเป็นการแก้ไขเชิงรับเท่านั้น และการทำตามนั้นจะส่งผลให้จำนวนนักวิจัยที่ผลิตได้มีจำนวนลดลง แต่เราอาจแก้ไขในเชิงรุกได้อีกด้วย คือลดจำนวน false positive (มองข้ามของที่ต้องการ) เพื่อเพิ่มปริมาณนักวิจัยที่จะผลิต ซึ่งอาจทำได้โดย

  • เพิ่มเงินเดือนนักวิจัย เพราะว่าคนส่วนใหญ่คงคิดเหมือนกันว่า ถ้าเหนื่อยแล้วยังได้เงินน้อย จะทนเหนื่อยไปทำไม
  • รับสมัครเด็กในช่วงเวลาที่รู้ตัวว่าอยากเป็นนักวิจัยจริงๆ เพราะบางคนก็เพิ่งมารู้ตัวตอนเกือบจบป.ตรี ว่าทำงานวิจัยมันสนุกดีนะ แต่โดนทุนกีดกั้นเพราะไม่ได้หัวดี 4.00 มาตั้งแต่เด็ก

ความใจดีเช่นนี้น่าจะทำให้ทุนได้รับสนใจสูงขึ้น ดังนั้นข้อสอบก็ต้องรัดกุมขึ้น ไม่ใช่แค่วัดความเก่งทางวิทยาศาสตร์บนกระดาษเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูไปถึงว่าความชอบและความสามารถในภาคปฎิบัติของการทำวิจัยจริงด้วย

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่อาจสำเร็จได้ง่ายๆ ในไม่กี่รอบปี และเมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นแบบปุ๊ปปั๊ปจนสังเกตุเห็นในทันทีก็เป็นได้

คำถามสำคัญคือ เราต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหรือเปล่า? หรือจะยอมทำแบบเดิมไปเรื่อยๆ เพราะเข้าใจว่าแนวทางนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว?


ที่เขียนๆ มานี่เป็นเพียงแค่มุมเล็กๆ ของผมต่อปัญหาอันยิ่งใหญ่นี้เท่านั้น แน่นอนว่าผมไม่มีทางเข้าใจได้ถูกต้องหมดหรอก แต่ให้ทำไงได้หละ ยังไม่ทันได้เริ่มถกปัญหากันเลย ก็โดนกดบล็อคไปเรียบร้อยแล้ว :p

ฝากไว้ให้คิด

ป.ล. อ่านแล้วไม่พอใจ อันเฟรนด์/บล็อคไปเลยก็ได้ไม่ว่ากัน หรือจะมาถกเถียงต่อให้เกิดปัญญาก็ได้ แต่ตอบช้าหน่อยนะช่วงนี้งานเยอะ

  1. http://pantip.com/topic/35811509 

  2. ไม่มีเรฟเพราะเป็นโพสที่เห็นได้เฉพาะ friend คำพูดไม่เป๊ะงี้หรอก … ก็แหม เจ้าตัวดันเล่นบล็อคผมไปซะก่อน ไอ้ผมก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรอย่างนี้ขึ้นด้วย เลยไม่ได้แคปประโยคต้นทางเก็บเป็นหลักฐานไว้ 

Originally published on: Facebook

neizod

author