วงแหวนเว็บ

neizod's speculation

insufficient data for meaningful answer

หนังสือ 9 เล่มในดวงใจ

Thursday, September 11, 2014, 08:01 PM
  1. ไบเบิล - เนื่องจากเรียนโรงเรียนคริสเตียนก็เลยมีโอกาสได้อ่านผ่านๆ ตั้งแต่ตอนประถม แม้จะอ่านไม่จบ (ถึงอ่านจบตอนนี้คงลืมไปหมดแล้ว) แต่ก็ถือว่าเป็นหนังสือที่เปิดโลกด้านการนับถือศาสนาได้ดีทีเดียว นอกจากนี้ยังช่วยปูทางไปสู่ philosophy และ cosmology อีกด้วย

  2. ตำนานเทพเจ้ากรีกโรมัน - ฉบับภาษาไทยที่ไม่ได้แปลมาจาก Homer ตรงๆ แต่เป็นการเรียบเรียงเรื่องราวสำคัญของเหล่าเทพมาเล่า เล่มนี้มีจุดสำคัญที่ทำให้เรามองว่าเหล่าเทพเจ้านั้น สุดท้ายก็ไม่ต่างอะไรกับคนทั่วไป มีรักโลภโกรธหลงและทำผิดพลาดกันได้

  3. Stephen Hawking’s A Brief History of Time - หลังจากมองในมุมศาสนาว่าพวกเขาหาคำตอบในชีวิตกันอย่างไรแล้ว ก็มามองในมุมวิทยาศาสตร์บ้าง ผมอ่านหนังสือตอเล่มนี้ตอนม.ต้นและเห็นว่าการให้เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์มันเข้าท่ากว่าใช้ความเชื่ออย่างเดียวแบบศาสนา แม้จะอ่านได้ไม่เข้าใจทั้งเล่ม แต่ก็ทำให้ตั้งเป้าไว้ว่าอยากเก่งด้านวิทยาศาสตร์มากกว่านี้ อยากใช้ให้เหตุผลให้ได้เก่งกว่านี้ เพื่อที่จะได้นำไปตอบคำถามว่าชีวิตคืออะไรกันแน่

  4. แคลคูลัส 1 โดย วิรัตน์ สุวรรณาภิชาติ - อ่านตอนม.ต้นเช่นกันหลังจากอ่านเล่มที่แล้วจบ เป็นเล่มที่ไปยืนเลือกที่ร้านหนังสือแล้วพบว่าอ่านเข้าใจง่ายที่สุดแล้ว เลือกอ่านเล่มนี้เพราะต้องการอ่านเล่มที่แล้วให้รู้เรื่องนั่นแหละ (ซึ่งก็ไม่ช่วยเท่าไหร่) แต่ก็เปิดโลกด้านคณิตศาสตร์ได้ดีทีเดียว

  5. ทฤษฎีดนตรี โดย ณัชชา พันธุ์เจริญ - หลังจากสนใจแต่วิทยาศาสตร์มาตลอด (ยอมรับว่าช่วงนึงเคยดูถูกสายศิลป์ด้วยว่า แค่ละเลงสีมั่วๆ เป็นภาพก็ขายได้แล้ว) ก็มีเรื่องดลใจให้ไปหัดพังเพลงคลาสสิก ซึ่งตอนฟังอย่างเดียวก็รู้สึกแค่ว่ามันเพราะดีนะ แต่พอได้อ่านเล่มนี้แล้วเหมือนเปิดโลกเลยว่า ศิลปศาสตร์ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะเอามาทำเล่นๆ ได้เลยทีเดียว

  6. Roger B. Nelsen’s Proofs Without Words - แล้วศาสตร์กับศิลป์ก็มาบรรจบกัน กับหนังสือที่ดึงความสวยงามของคณิตศาสตร์ออกมาแสดงในเชิงศิลปะได้เป็นอย่างดี หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนเอกคณิตศาสตร์อีกด้วย

  7. Tanigawa Nagaru’s Sizumiya Haruri Series - อ่านตอนม.ปลายช่วงที่กระแสการ์ตูนกำลังดัง ชอบมากตรงที่คนเขียนเอาทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ประหลาดๆ ที่เข้าใจได้ยากมาผูกกับตัวละครเกรียนๆ จนได้เป็นเนื้อเรื่องย่อยง่าย หนังสือชุดนี้นี่เองที่ส่งผลให้ศึกษา philosophy จริงจัง

  8. Isaac Asimov’s The Last Question - จริงๆ เป็นแค่เรื่องสั้น แต่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็เหมือนกับการสรุปคำถามจากหนังสือข้างต้นแทบทั้งหมดแล้วมาหาคำตอบให้มัน อ่านจบแล้วก็คิดได้ว่าศาสนาไม่จำเป็นต้องยืนอยู่คนละข้างกับวิทยาศาสตร์เลย

  9. Douglas Adams’ Hitchhiker’s Guide to the Galaxy - ผมเชื่อว่า พอเรียนรู้สิ่งต่างๆ ไปจนความรู้มันแทบจะระเบิดออกมา สุดท้ายแล้วก็ต้องหาทางลืมความรู้นั้น (unlearn) หนังสือชุดนี้แสดงถึงความไร้สาระของชีวิตได้ดีจริงๆ และน่าจะเป็นบทสรุปให้กับคำตอบของชีวิตที่ผมตั้งคำถามไว้อย่างเนิ่นนานด้วย

สำหรับผมนี้ยังไม่มีเล่มที่ 10 ครับ ส่วนหนึ่งอาจเพราะเพิ่งสำนึกตัวเองได้ว่า จริงๆ แล้วก็ไม่ได้อ่านหนังสือมาเยอะขนาดนั้น อีกส่วนหนึ่งก็เพราะไม่อยากเอาหนังสือมายัดๆ ไปให้มันครบจำนวน ทั้งที่ไม่ได้รู้สึกอะไรกับหนังสือเล่มนั้นด้วย

ป.ล. หนังสือบางที่ยกมาประกอบ ขออนุญาตละตำแหน่งทางวิชาการของผู้แต่งนะครับ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าแต่ละเล่มนั้นผมอ่านเมื่อนานมาแล้ว ตอนนั้นท่านอาจไม่ได้ดำรงในตำแหน่งนั้นๆ ก็ได้

Originally published on: Facebook

neizod

author