วงแหวนเว็บ

neizod's speculation

insufficient data for meaningful answer

TechJam 2018 รอบชิงภาคกลาง

Wednesday, October 10, 2018, 08:34 AM

เนื่องจาก TechJam ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อผู้เข้ารอบเป็นข้อมูลสาธารณะ พอถึงหน้างานเลยเพิ่งรู้ว่านี่มันงานรวมญาติสสวท.คอมพิวเตอร์โอลิมปิกนี่หน่า! รู้สึกว่ามาผิดงานซะเหลือเกิน 5555 มองไปทางไหนก็เจอแต่คนใส่เสื้อ Google Code Jam เต็มไปหมด (ส่วนเรานี่สาย Open Source เลยใส่เสื้อ Hacktoberfest ไป) เดินไปเดินมาซักพักก็เจอ @haxxpop กับ @dtinth ก็เลยจับกลุ่มร่วมกับ @ipats เพื่อนร่วมทีม (ผู้มาสาย) นั่งคุยสัพเพเหระกันระหว่างรอแข่งขัน

กติการการแข่งขัน TechJam รอบนี้มีโครงสร้างเหมือนรอบคัดเลือกเลย คือ แบ่งคำถามออกเป็นข้อเล็กและใหญ่ บางช่วงมีลักษณะออกแนววาไรตี้เกมโชว์ที่ต้องชิงกันตอบ ไม่ได้กะให้นั่งซีเรียสยาวๆ หลายชั่วโมงเพื่อเขียนอัลกอริทึมโหดๆ แก้ปัญหาเหมือนพวก ACM-ICPC, Google Code Jam เพียงอย่างเดียว ก็ถือว่าหลากหลายแปลกใหม่สร้างสรรค์ดี เป็นอีกทางเลือกที่ดูตื่นเต้นสนุกสนานไม่แพ้การแข่งกินเบียร์ระหว่างโค้ดที่เคยไปร่วมเมื่อหลายปีก่อนเลย 🍻

ย้ำอีกครั้งว่าวิธีคิดและโค้ดที่เอามาแปะนี่คือแบบที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ตอนแข่งจริงโดนเวลาบีบค้นจนโค้ดเละกว่านี้มาก!

ข้อเล็กๆ ถามสั้นตอบไว

ตอนรอบคัดเลือกไม่ได้สนใจรายละเอียดตรงนี้นัก แต่จริงๆ แล้วรอบนี้แบ่งยังแยกย่อยลงไปอีกสองแบบ คือ แบบที่ให้ไวท์บอร์ดเล็กๆ มาเขียนตอบด้วยสัญชาติญาณ (30 วินาที) กับให้ใช้คอมพิวเตอร์เขียนโปรแกรมอย่างเร็วเพื่อหาคำตอบ (5 นาที) … พอมีเวลามาบังคับแล้วยอมรับเลยว่าลนมากๆ ยิ่งข้อที่ให้เขียนโปรแกรมนี่ถ้าได้เวลาเพิ่มขึ้นมาอีกซักสิบวินาทีก็น่าจะได้คำตอบแล้ว

ลึกและกว้าง

โจทย์ให้พรีออเดอร์ (NLR) จากการทำ DFS บนต้นไม้ค้นหาแบบทวิภาคมา แล้วถามว่าการท่องต้นไม้แบบ BFS สามารถทำได้แตกต่างกันทั้งหมดกี่แบบ

จำเลขโหนดเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่เห็นโจทย์แล้วพยายามเขียนสร้างต้นไม้ไปด้วย (รู้สึกจะสร้างผิดเงื่อนไขการเป็นต้นไม้ค้นหาซะอีก แต่รูปดันออกมาใช้ได้พอดี) ซึ่งได้ผลลัพธ์หน้าตาประมาณนี้

ตัวอย่างต้นไม้ค้นหาแบบทวิภาค ที่มีโหนดที่มีลูกสองตัวอยู่ 4 โหนด

ผมนับรอบแรกแล้วผิด จนได้ @ipats มาสะกิดวินาทีสุดท้ายว่ามันต้องคูณ 2 เข้าไปทุกโหนดที่มีลูกสองตัวนะ ไม่ใช่แค่ที่โหนดที่มีสองใบ ดังนั้นตอบ 16 แบบ

นับพื้นที่สามเหลี่ยม

โจทย์ให้รูปนี้มาแล้วถามว่าถ้าสร้างวงจรออยเลอร์ (ลากเส้นตรงผ่านทุกจุดโดยไม่ซ้ำจุดเดิม และวนรอบกลับมาที่จุดแรกได้พอดี) จะสร้างพื้นที่จากรูปสามเหลี่ยมย่อยๆ ได้ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าไหร่?

มาวาดรูปทีหลังแล้วลืมใส่จุด … จินตนาการเอาว่าที่ทุกๆ มุมสามเหลี่ยมเล็กมันมีจุดอยู่ละกันนะ 😅

ให้ทดลองลากเส้นแล้วยืนนับคงตอบไม่ทันใน 30 วินาที … กรรมการเฉลยว่าข้อนี้ต้องมองให้ออกว่าพื้นที่ที่มากที่สุดสร้างได้ สามารถคำนวณได้จากจำนวนจุดลบด้วย 2 (พอมองออกแล้วพิสูจน์อุปนัยจะง่ายมาก)

วิธีนับจุดเร็วๆ ก็ขอไอเดียได้จากเกาส์ ซึ่งจะได้ว่าจุดทั้งหมดมี $T_{10}+3T_3 = 73$ จุด ดังนั้นจึงได้พื้นที่เป็น 71 สามเหลี่ยมเล็ก

ครอบครัวนักคำนวณ

ให้ครอบครัวนักคำนวณซึ่งประกอบไปด้วย Hilbert, Shannon, Dijkstra, Lovelace, Neumann และมีความสัมพันธ์ดังนี้

  1. Hilbert อายุน้อยกว่า Shannon
  2. Dijkstra อายุน้อยกว่า Lovelace
  3. Shannon อายุน้อยกว่า Neumann
  4. Hilbert อายุน้อยกว่า Dijkstra
  5. Lovelace อายุน้อยกว่า Shannon
  6. Shannon อายุน้อยกว่า Dijkstra
  7. Neumann อายุน้อยกว่า Lovelace

ถามว่าในความสัมพันธ์นี้มีข้อใด (เพียงข้อเดียว) ที่ผิด? และเมื่อลบความสัมพันธ์ที่ผิดนั้นออกแล้ว ใครจะมีอายุมากที่สุด?

ข้อนี้ @ipats ตอบได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่เอาความสัมพันธ์ข้างต้นมาเขียนเป็นกราฟแล้วจะเห็นว่ามีความสัมพันธ์ L<S ที่ทำให้กราฟมีวงจร พอตัดเส้นนี้ทิ้งเพียงเส้นเดียวแล้วกราฟก็จะกลายเป็นต้นไม้ทันที และได้ว่าครอบครัวนี้มี Lovelace เป็นพี่ใหญ่

จัดกลุ่มตัวเลขที่ผลคูณต่างกันน้อยสุด

โจทย์ให้เซ็ต $A=\lbrace1,2,3,\dots,12\rbrace$ มา ถามว่าการแบ่งพาร์ทิชันเซ็ตนี้เป็นสองเซตย่อย แล้วผลต่างของผลคูณของแต่ละเซ็ตย่อยที่มีค่าน้อยสุดเป็นเท่าไหร่?

ขอบคุณ Python ที่มี itertools.combinations เลยเขียนข้อนี้ทันอย่างฉิวเฉียด

from itertools import combinations
from functools import reduce
from operator import mul

prod = lambda ls: reduce(mul, ls)

ls = set(range(1, 13))
ans = set()
for i in range(1, 12):
    for rs in combinations(ls, i):
        rs = set(rs)
        ans |= {abs(prod(rs) - prod(ls-rs))}
print(min(ans))

รันโปรแกรมแล้วตอบว่าผลต่างที่น้อยที่สุดคือ 576

ยกกำลังด้วยการคูณน้อยที่สุด

โจทย์ถามว่า $x^{125}$ สามารถเขียนด้วยผลคูณที่สร้างจากการคูณกันของพจน์ที่อยู่ในฟอร์ม $x^k$ ที่แตกต่างกันอย่างน้อยที่สุดกี่พจน์?

ข้อนี้จะเขียนโปรแกรมคิดแบบการยกกำลังด้วยกำลังสองก็ได้ … ซึ่งจะผิด ส่วน @ipats ทำด้วยมือด้วยการสร้าง $x^2, x^4, x^8,\dots$ ไปเรื่อยๆ จนได้คำตอบว่า 11 … ซึ่งก็ผิดอีกเช่นกัน เพราะจริงๆ แล้วข้อนี้จะออกแนวปัญหาเชาวน์ที่ต้องมองให้ออกว่าการสร้างเลขที่เป็น $x^{5k}$ สามารถใช้พจน์อย่างประหยัดที่สุดคือ $x^{2k} \cdot x^{2k} \cdot x^k$ ดังนั้นคำตอบจะกลายเป็น

\[\begin{align*} x \cdot x &= x^2 \\ x \cdot x^2 &= x^3 \\ x^2 \cdot x^3 &= x^5 \\ x^5 \cdot x^5 &= x^{10} \\ x^5 \cdot x^{10} &= x^{15} \\ x^{10} \cdot x^{15} &= x^{25} \\ x^{25} \cdot x^{25} &= x^{50} \\ x^{25} \cdot x^{50} &= x^{75} \\ x^{50} \cdot x^{75} &= x^{125} \end{align*}\]

คือทำได้ใน 9 ครั้ง (โดนโจทย์ดักจนตอบผิดกันหมดทุกทีม 555)

นับรูปแบบพิซซ่า

ให้พิซซ่าหนึ่งถาดตัดแบ่งเป็นได้ 8 ชิ้น แต่ละชิ้นสามารถเลือกซอสได้ 3 แบบ ถามว่าสร้างพิซซ่าที่แตกต่างกันได้ทั้งหมดกี่แบบ? โดยให้คำนึงด้วยว่าพิซซ่าที่หมุนแล้วเหมือนกัน จะถูกนับว่าเป็นแบบเดียวกัน

ข้อนี้ตอนทำจริงเขียนไม่ทันเพราะอ่อนซ้อมจนลืมไปว่ามี itertools.product ให้ใช้ (ไม่ได้ใช้บ่อยเท่าตัว combinations) เลยมัวแต่บั๊กที่เขียนฟังก์ชันนี้เอง … พอแข่งเสร็จกลับมาตั้งสติแล้วเขียนดีๆ ก็เหลือแค่นี้

from itertools import product as cartesian_product

rotate = lambda pizza, i: pizza[i:] + pizza[:i]
minimum = lambda pizza: min(sorted(rotate(pizza, i) for i in range(8)))

print(len({minimum(pizza) for pizza in cartesian_product('012', repeat=8)}))

รันโปรแกรมแล้วตอบ 834 แบบ

ข้อใหญ่ๆ แก้โจทย์สนใจ Big-O

โจทย์ทำแบบเดียวกับ Google Code Jam คือมีเทสเคสทั้งแบบง่าย (เขียนถึกๆ ไปก็น่าจะออก) และแบบยาก (ต้องใช้อัลกอริทึมที่เหมาะสม) … ซึ่งเละครับ ไม่ได้ซ้อมมา มีโจทย์ 3 ข้อทำได้แค่เทสเคสง่าย 2 ข้อเท่านั้น ก็ขอจดเฉลยแค่แบบง่าย (ที่ทำทันตอนแข่ง) ละกัน ส่วนเฉลยเทสเคสยากนั้นน่าจะมีคนอยากอธิบายอยู่แล้วนะ ไปฟังจากคนที่เก่งกว่าเราตรงๆ เลยดีกว่า 😉

สลับสายโพลิเมอร์

ให้โพลิเมอร์ $K$ ซึ่งเป็นสตริงที่มีความยาว $N$ โดยนับตำแหน่งเริ่มต้นที่เลขศูนย์ และให้ข้อมูลตำแหน่ง $p$ ที่ต้องการทำงานมาอีก $M$ ครั้ง โดยแต่ละครั้งที่ทำงาน จะกลับซับสตริงฝั่งซ้ายของ $K_p$ และกลับซับสตริงฝั่งขวาของ $K_p$ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

Input Polymer: ASDFGHJKL
p = 3             ^
Intermediate:  DSAFLKJHG
p = 6                ^
Intermediate:  KLFASDJGH
p = 0          ^
Final Output:  KHGJDSAFL

ให้เขียนโปรแกรมที่ตอบผลลัพธ์ของการทำงานสลับสตริงดังกล่าว โดยเทสเคสง่าย $1 \le N \le 300$ และ $0 \le M \le 30\text{k}$ ส่วนเทสเคสยาก $1 \le N \le 300\text{k}$ และ $0 \le M \le 300\text{k}$

ซึ่งโค้ดที่พอจะผ่านเทสเคสง่ายก็เขียนเพียงเท่านี้

n, m = [int(n) for n in input().split()]
polymer = list(input().strip())
for _ in range(m):
    p = int(input())
    polymer = polymer[:p][::-1] + polymer[p:p+1] + polymer[p+1:][::-1]
print(''.join(polymer))

จะเห็นว่ามันเสียเวลาหนักๆ ตรงที่ต้องสร้างสตริงใหม่ทุกครั้ง … ซึ่งตอนแข่งก็พอจะนึกถึงโครงสร้างข้อมูลที่แก้ปัญหาตรงนี้ได้แล้ว แต่เขียนไม่ทันอยู่ดี 555

แต่ความทึ่งที่สุดคือเมื่อแข่งเสร็จแล้วเดินออกมาคุยกับทีมอื่นๆ ก็พบว่ามีเฉลยที่เรียบง่ายเพียงแค่นี้

n, m = [int(i) for i in input().split()]
j = n
flipped = False
polymer = list(input().strip()) + ['_']
for _ in range(m):
    r = int(input())
    i = (j+r+1 if not flipped else j-r-1) % (n+1)
    polymer[i], polymer[j] = polymer[j], polymer[i]
    j = i
    flipped = not flipped
if not flipped:
    print(''.join(polymer[j+1::+1]+polymer[:j:+1]))
else:
    print(''.join(polymer[j-1::-1]+polymer[:j:-1]))

เอิ่ม … เหมือนโดนคนแต่งโจทย์ดักเข้าให้อีกแล้วแฮะ 😅

ลดค่าผ่านทางหลวง

ให้กราฟมีทิศทางที่แต่ละโหนดแทนเมืองและเส้นเชื่อมแทนทางหลวงที่มีการเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งปัจจุบันมีเส้นทางที่ถูกที่สุดที่เป็นทางผ่านจากเมือง $1 \to N$ อยู่แล้ว อยากสร้างเส้นทางถูกที่สุดอีกอย่างน้อยหนึ่งเส้นทาง ซึ่งทำได้โดยลดค่าผ่านทางหลวงได้หนึ่งเส้น โดยการลดค่าผ่านทางนี้ต้องไม่กระทบกับเส้นทางที่ถูกที่สุดที่มีอยู่ และไม่สามารถลดค่าผ่านทางจนติดลบได้ ถามว่าต้องลดค่าผ่านทางอย่างน้อยสุดเป็นเงินเท่าไหร่?

ตัวอย่างกราฟทางหลวง โดยเส้นสีฟ้าแสดงเส้นทางที่ถูกที่สุด (มีอยู่แล้ว 2 เส้นทาง เส้นทางละ 11 หน่วย) ส่วนเส้นสีแดงคือสามารถลดราคาค่าผ่านทางเส้นใดเส้นหนึ่งก็ได้ในราคา 2 หน่วย เพื่อสร้างเส้นทางที่ถูกที่สุดเพิ่ม

ข้อจำกัดของเทสเคสง่ายคือ $3 \le N \le 50$ และ $1 \le M \le 2\text{k}$ ส่วนเทสเคสยากนั้น $3 \le N \le 100\text{k}$ และ $1 \le M \le 200\text{k}$

ข้อนี้ @ipats น่าจะคิดเกือบออกแล้ว เสียดายที่เราไม่ถนัดอัลกอริทึมบนกราฟ แค่จะเขียนโค้ดมาทดลองตามยังทำไม่ได้เลย 😭 (ส่วน @ipats ดันก็ถนัดแต่ PHP ซึ่งการแข่งขันนี้เป็นแบบส่งโค้ดและไม่รองรับ ถถถ)

แข่งเสร็จมาคุยกับทีมอื่นๆ ก็ได้แนวคิดสำหรับแก้โจทย์ว่า เริ่มจากหาเส้นทางที่สั้นที่สุด จาก $1 \to N$ เก็บเป็น prefix แล้วสลับทิศทางของกราฟมาหาเส้นทางที่สั้นที่สุดจาก $N \to 1$ เก็บเป็น postfix หลังจากนั้นพิจารณาทางหลวงที่เชื่อมเมือง $u \to v$ ใดๆ คำนวณค่าผ่านทางจาก $1 \to u \to v \to N$ (ซึ่งทำได้เร็วโดยดูจากค่าใน prefix และ postfix บวกกันได้เลย) แล้วทดลองลดค่าผ่านทาง $u \to v$ ว่าจะสามารถทำให้ค่าผ่านทางรวมเท่ากับค่าผ่านทางที่ถูกที่สุดได้มั้ย ทำไปเรื่อยๆ ให้ครบทุกเส้นทางเพื่อหาการลดค่าผ่านทางที่ถูกที่สุด

หรือนำไอเดียข้างต้นมาเขียนโค้ดคร่าวๆ ก็น่าจะได้ประมาณนี้

from collections import defaultdict
from heapq import heappush, heappop

def dijkstra(graph, root):
    dist = {u: 0 if u == root else 1e400 for u in graph}
    queue = [(dist[root], root)]
    while queue:
        best, u = heappop(queue)
        for v, cost in graph[u].items():
            dist[v] = min(dist[v], best+cost)
            heappush(queue, (dist[v], v))
    return dist

def exceed_shortest(n, graph, prefix, postfix, avoid=set()):
    best = prefix[n]
    exceed = defaultdict(set)
    for u, edges in graph.items():
        for v, cost in edges.items():
            if (u, v) not in avoid:
                value = prefix[u] + postfix[v] + cost - best
                if value < cost:
                    exceed[value] |= {(u, v)}
    return exceed

def solve(n, direct, invert):
    prefix, postfix = dijkstra(direct, 1), dijkstra(invert, n)
    exceed = exceed_shortest(n, direct, prefix, postfix)
    exceed = exceed_shortest(n, direct, prefix, postfix, exceed[0])
    return min(exceed) if exceed else 0

def main():
    n, m = [int(n) for n in input().split()]
    direct = {u: {} for u in range(1, n+1)}
    invert = {v: {} for v in range(1, n+1)}
    for _ in range(m):
        u, v, c = [int(n) for n in input().split()]
        direct[u][v] = invert[v][u] = c
    print(solve(n, direct, invert))

if __name__ == '__main__':
    main()

ขุดสมบัติ

มีลายแทงสมบัติในแนวดิ่งเป็นตารางขนาด $R \times C$ โดยแต่ละช่องอาจมีสมบัติที่มีราคาติดลบได้ เราต้องการขุดสมบัติลึกลงไปเรื่อยๆ ให้ได้มูลค่ารวมมากที่สุด โดยในขณะที่ขุดไปจนถึงความลึกหนึ่งๆ เราอาจเลือกได้ว่าจะเลี้ยวซ้ายหรือขวาหนึ่งครั้งไปไกลสุด $K$ ช่องแล้วขุดลงชั้นถัดไป (หรือจะหยุดขุดก็ได้) แต่เครื่องขุดสมบัติจะขุดถอยหลังหรือขุดย้อนขึ้นด้านบนไม่ได้ ถามว่าเราสามารถขุดหาสมบัติได้มากที่สุดเป็นมูลค่าเท่าไหร่?

ตัวอย่างแผนที่สมบัติ และการขุดที่ให้มูลค่ามากที่สุดที่ 5 หน่วย

เทสเคสง่ายน่าจะให้ $1 \le R, C \le 200$ และเทสเคสยาก $1 \le R \times C \le 2\text{M}$ โดยทั้งสองเคส $K \le C$

มองผ่านๆ รอบแรก ข้อนี้เป็นปัญหาที่ใช้เทคนิคกำหนดการพลวัตธรรมดาๆ ไล่หาย้อนขึ้นไปว่า จากช่องนี้เมื่อขุดต่อลงไปเรื่อยๆ จะทำได้ดีที่สุดเท่าไหร่ ก็จะได้โค้ดนี้ที่ผ่านเทสเคสง่าย

def sign(n):
    return +1 if n > 0 else -1 if n < 0 else 0

def possible(layer, i, kp, below):
    out = {0}
    acc = 0
    for j in range(0, kp, sign(kp)):
        if not 0 <= i+j < len(layer):
            break
        acc += layer[i+j]
        out |= {acc + below[i+j]}
    return out

def max_cell(layer, i, k, below):
    left = possible(layer, i, -k-1, below)
    right = possible(layer, i, k+1, below)
    return max(left | right)

def solve(grid, r, c, k):
    best = [0 for _ in range(c)]
    while grid:
        layer = grid.pop()
        best = [max_cell(layer, i, k, best) for i in range(c)]
    return max(best)

def main():
    r, c, k = [int(n) for n in input().split()]
    grid = [[int(n) for n in input().split()] for _ in range(r)]
    print(solve(grid, r, c, k))

if __name__ == '__main__':
    main()

แต่ความโหดคือการที่โจทย์ยอมให้หัวเจาะเลี้ยวได้ไกลถึง $K \le C$ นั่นหมายความว่าอัลกอริทึมข้างต้นที่กินเวลา $O(RC^2)$ จะทำงานเทสเคสยากไม่ทันนั่นเอง (ยอม คิดไม่ออกแล้ว)

สรุป

การแข่งขันสนุกมากครับ แม้ผมเองจะแก้โจทย์ไม่ค่อยได้ ตกเป็นไปเป็นอันดับท้ายๆ ก็ตามที แต่ก็ได้เห็นถึงฝีมือขั้นปีศาจของทีมอื่นๆ ที่สำคัญคือมีหลายทีมทีเดียวที่ยังเป็นเด็กม.ปลาย! ได้เห็นแล้วรู้สึกว่าวงการไอทีของไทยยังมีความหวังอยู่นะ เชื่อว่างานนี้น่าจะเป็นตัวจุดประกายความสนใจและความเข้าใจต่อแวดวงไอที (และ STEM) ให้สังคมเราได้เป็นอย่างดี

neizod

author