วงแหวนเว็บ

neizod's speculation

insufficient data for meaningful answer

ภาษากลางแห่งโลกวิชาการ

Sunday, July 19, 2020, 11:58 PM

วันก่อนไถวิกิอ่านสมการคณิตศาสตร์ไปเรื่อยๆ แล้วดันเหลือบไปเห็นตัวอย่างหน้าหนังสือสมัยปี 1713 ของ Jakob Bernoulli ที่น่าสนใจก็คือแม้ชื่อของผู้เขียนจะดูออกแนวเยอรมัน แต่ภาษาที่ใช้ในต้นฉบับกลับกลายเป็นภาษาละตินไปซะได้!

หน้าหนึ่งในหนังสือ Ars Conjectandi (1713) โดย Jakob Bernoulli ภาพจาก Wikipedia

ด้วยความสงสัยไม่เข้าเรื่อง เลยเปลี่ยนมาเกาในจุดคันจุดใหม่นี้แทน แล้วก็พบว่านักวิชาการยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 16-17 นี่เขียนงานวิจัยด้วยภาษาละตินกันเป็นปรกติ ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในภาษาละตินซักนิด!

ที่เป็นเช่นนี้ก็น่าจะเกิดจากการที่แต่ละประเทศต่างมีภาษาประจำชาติของตัวเอง เมื่อตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้ภาษาใครเป็นมาตรฐาน ก็เลยไปขุดเอาภาษาโบราณอย่างละตินมาปัดฝุ่นใหม่เพื่อใช้ในงานเขียนทางวิชาการโดยเฉพาะ ซึ่งคนที่จะเรียนและสื่อสารด้วยภาษานี้ก็คือเหล่าผู้มีการศึกษาด้วยกันเองเท่านั้น

แน่นอนว่าระหว่างทางก็มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงบ้าง เช่น Galileo (1564-1642) ที่เขียนงานแทบทั้งหมดในภาษาอิตาลี, Descartes เขียน Discours de la Méthode (1637) ในภาษาฝรั่งเศส (แล้วจึงค่อยแปลเป็นละตินในเกือบยี่สิบปีให้หลัง), Newton เขียน Opticks (1704) ในภาษาอังกฤษ (แม้งานก่อนหน้าอย่าง Principia จะยังเขียนในภาษาละตินอยู่ก็ตาม)

ที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ Descartes ที่บอกเลยว่าเขาเลือกเขียน Discours de la Méthode ด้วยภาษาประจำชาติ เพราะว่าต้องการให้คนทั่วไปสามารถอ่านและเข้าใจงานของเขาได้ ไม่ใช่เก็บไว้เป็นความรู้ขึ้นหิ้งสำหรับเหล่านักวิชาการเท่านั้น!1

ดังนั้นสิ่งที่ Descartes ต้องการจะบอกจริงๆ ก็คงไม่ใช้ “Cogito, ergo sum” เป็นแน่แท้ แต่เป็นประโยคที่เรียบง่ายระลื่นหูกว่าอย่าง “Je pense, donc je suis” ต่างหาก (หรือถ้าต้องการสืบสานเจตนารมณ์แห่งการสื่อสาร ประโยคดังกล่าวคือ “เพราะฉันคิด, ฉันจึงมีตัวตน” นั่นเอง)

และก็น่าจะเป็นเพราะความเรียบง่ายระลื่นหูในภาษาบ้านเกิดของผู้เขียนแต่ละคนเนี่ยแหละ ที่ทำให้ภาษาละตินถูกเลือกใช้งานน้อยลงเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะมีผู้เข้าใจมันน้อยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แม้แต่ในกลุ่มผู้ที่รู้ภาษาละตินด้วยกันเอง บางครั้งก็ยังพบความยากลำบากในการสื่อสารจากข้อจำกัดและความไม่ยืดหยุ่นของภาษาที่ตายแล้วเลย

แต่ก็ยังมีนักวิชาการบางส่วนที่ยึดในระบบเดิมต่อไป บ้างเช่น Spinoza (1632-1677) เลือกละตินเพราะภาษาบ้านเกิดของตนนั้นแทบไม่มีใครใช้นอกประเทศตนเอง หรือ Linnæus (1707-1778) ใช้ละตินเพราะต้องการความเป็นกลางทางการเมืองไม่ต้องการให้การตั้งชื่อทางอนุกรมวิธานไปกระทบใคร (รายนี้หลงรักละตินมากจนแปลงชื่อตนให้อยู่ในภาษานี้ซะเลย)

และแล้วความเปลี่ยนแปลงก็ปรากฏ ในศตวรรษที่ 18 งานวิจัยในภาษาละตินถูกตีพิมพ์เป็นสัดส่วนน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเข้าศตวรรษที่ 19 งานวิจัยใหม่ๆ ก็แทบไม่ถูกเลือกเขียนด้วยภาษาละตินไปซะแล้ว ยังมีเพียงแค่บางสาขาความรู้เท่านั้นที่ยังเลือกใช้ภาษาละตินอยู่2 จนต้นศตวรรษที่ 20 โฉมหน้าของโลกวิชาการก็ถูกเปลี่ยนไปเขียนด้วยภาษาอังกฤษ หรือไม่ก็ฝรั่งเศส หรือไม่ก็เยอรมัน เพียง 3 ภาษานี้ในอัตราส่วนพอๆ กันเพียงเท่านั้น

แต่เรื่องยังไม่จบ เพราะเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งไปเสียก่อน ทำให้ภาษาเยอรมันโดนกีดกันจากโลกทั้งหมดไม่เพียงเฉพาะโลกวิชาการ รัฐเกือบครึ่งในอเมริกาผ่านกฎหมายให้การพูดการเรียนภาษาเยอรมันเป็นอาชญากรรม ประชาชนอเมริกันเติบโตมาโดยมีความรู้เพียงภาษาอังกฤษภาษาเดียว เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองมาถึงและสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามจนได้รับชัยชนะ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ผู้วางกฎแห่งโลกใหม่จะเลือกใช้แต่ภาษาอังกฤษ จนกลายเป็นโฉมหน้าใหม่ของโลกทุกวันนี้ในที่สุด

ซึ่งก็น่าจะเป็นหนึ่งในคำอธิบายว่าทำไมภาษาอังกฤษถึงเป็นภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดในโลก (1.2 พันล้านคน) ทั้งที่คนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่นั้นมีเพียงแค่ประมาณ 1/3 เท่านั้น ต่างจากภาษาอื่นๆ อย่างเช่นจีนที่แม้จะมีคนใช้เยอะรองลงมาก็จริง (1.1 พันล้านคน) แต่กว่า 90% ก็คือคนที่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาแม่อยู่แล้ว

น่าสนใจว่าอนาคตจะเป็นยังไง จะเหมือนในซีรีย์ Foundation มั้ยที่สุดท้ายทั้งโลกจะเหลือเพียงภาษาเดียว แตกต่างกันเพียงแค่สำเนียงของแต่ละภาษาถิ่น หรือจะเป็นเหมือนซีรีย์ Ender’s Game ที่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางสำหรับติดต่อสื่อสารทางไกล แต่สำหรับแต่ละอาณานิคมก็มีภาษาเป็นของตัวเอง

อ้างอิง

  1. “si j’écris en français, qui est la langue de mon pays, plutôt qu’en latin, qui est celle de mes précepteurs, c’est à cause que j’espère que ceux qui ne se servent que de leur raison naturelle toute pure jugeront mieux de mes opinions que ceux qui ne croient qu’aux livres anciens;” – หนังสือ Discours de la Méthode บทที่ 6 

  2. เช่น สาขาพฤกษศาสตร์ ที่เพิ่งให้เลิกเขียนอธิบายลักษณะพืชด้วยภาษาละตินไปเมื่อปี 2012 นี่เอง 

neizod

author